CSR 3

 
 
You are here:: ข่าวสาร ข่าวโครงการ เปิดตัวโครงการ"สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน" CSR Campusปี 3 สู่ 76 โรงเรียน ใน 76 จังหวัดทั่วไทย
 
 

เปิดตัวโครงการ"สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน" CSR Campusปี 3 สู่ 76 โรงเรียน ใน 76 จังหวัดทั่วไทย

 

News_04

บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT)จัดทำโครงการ"สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน"โดยความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค และสถาบันไทยพัฒน์ เปิดตัวโครงการCSR Campusปี3 "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน"ภายใต้โมเดล"CSR Junior"เพื่อสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย76โรงเรียน ใน76จังหวัดทั่วประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งตามโครงการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทยของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง

นายจุติ ไกรฤกษ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ"สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน"ระหว่าง สพฐ. โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค และสถาบันไทยพัฒน์  ณ ห้อง ทีเค. คอนเวนชั่น ชั้น5โรงแรม ทีเค. พาเลซ  โดยผู้ลงนามประกอบด้วย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่CATนายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค และ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์

จากกระแสตอบรับโครงการส่งเสริมความรู้CSRสู่ภูมิภาค หรือCSR Campusในปี2551ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้นราว4,000คน และในปี2552จำนวน6,000คน โดยในปีที่2ได้มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วม117แห่ง ทำให้ยอดของผู้ที่เข้าร่วมโครงการCSR Campusตลอดสองปีที่ผ่านมารวมกันนับหมื่นคน มีเครือข่ายCSRระดับจังหวัดที่เกิดขึ้นจากผลพวงของการขับเคลื่อนโครงการCSR Campusอันนำไปสู่การขับเคลื่อนกิจกรรมCSRของท้องถิ่น

 ในปี2553นี้ บมจ.กสท โทรคมนาคม โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค และสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ CSR Campus จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สานต่อโครงการในสองปีแรกจากกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มนักศึกษา มาสู่กลุ่มนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. รวมถึงโรงเรียนในโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้านของ สพฐ.  ภายใต้โมเดล "CSR Junior" ที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดเนื้อหาเรื่อง"ศีลธรรม"อันเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่ต้นธาร รวมทั้งเวิร์คช็อปที่ร่วมกันค้นหาโครงงานCSRที่ให้นักเรียนศึกษาทำความเข้าใจCSRบูรณาการ ความคิดเชิงธุรกิจ ความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ และได้ลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันแสดงความเป็นจิตอาสารับผิดชอบต่อสังคม

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้เปิดเผยในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ"สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน" 76โรงเรียน76จังหวัด ระหว่าง4หน่วยงานในวันนี้ว่า CAT และอีก 3 องค์กรร่วมฯ มีความประสงค์ที่จะร่วมมือกันในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทยในโรงเรียนสังกัด สพฐ.76โ รงเรียน ใน 76 จังหวัด และได้มอบหมายให้สำนักงานบริการลูกค้าCATใน76จังหวัด ทำหน้าที่ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับโรงเรียน และสนับสนุนส่งเสริมกระบวนการพัฒนาศักยภาพและทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณภาพ

ด้าน นายสมพล จันทร์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะทำงานโครงการCSRกสท กล่าวว่า"โครงการ CSR Campusเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานCSRด้านการศึกษาตามแนวนโยบายของ CATโครงการนี้เป็นการจุดประกายความคิดDNAสำนึกดีต่อสังคม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของ CAT ในฐานะองค์กร ICT ที่ต้องการนำโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไปเพิ่มศักยภาพการศึกษาของเยาวชนไทย พร้อมกับการให้ความรู้ในเชิงป้องกันแก่เยาวชนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยร้ายผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อรูปแบบใหม่ๆ อาทิ Social Media ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของเยาวชนไทยในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญ"

ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวถึงบทบาทของ สพฐ. ในการเข้าร่วมดำเนินโครงการในครั้งนี้ว่า ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่2 (พ.ศ.2553-2555)ของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ได้มีการดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมในสถานศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายยังโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ ที่ให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจ CSR บูรณาการ ความคิดเชิงธุรกิจ และได้ลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันแสดงความเป็นจิตอาสารับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นโครงงานCSRของนักเรียนเอง โครงการ CSR Campus ปี3 "สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน"จึงถือเป็นการนำเอาความรู้CSRและความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปถ่ายทอดให้กับตัวนักเรียนที่จะนำไปพัฒนาโครงงานCSRโดยตรง และยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วย ซึ่งนอกจากนักเรียนจะได้รับประโยชน์แล้ว ผู้บริหารโรงเรียน  ครู  ผู้ปกครอง  และชุมชน จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เช่นกัน

ด้าน นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค กล่าวว่า"เด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคม จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะร่วมกันดูแลสวัสดิภาพและสร้างภูมิคุ้มครองต่อเยาวชนให้พ้นจากภัยที่เป็นทั้งรูปแบบอบายมุขเดิมและภัยยุคใหม่ ด้วยการสานต่อแนวทางที่มาจากผลงานจาก CSR Campusในสองปีแรก โดยในปีที่สามนี้ จะนำเรื่องศีลธรรมซึ่งถือเป็นวินัยขั้นพื้นฐานสำคัญที่จะเสริมสร้างให้เกิดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่ระดับเยาวชน มาเป็นเนื้อหาสำคัญของการขับเคลื่อนกิจกรรม CSR Campusปี 2553 และนอกจากนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดกิจกรรมสำหรับเยาวชน โครงการทำดีทุกวันของดีแทค ยังจะได้เสริมเนื้อหาของ CSR Campus Juniorในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อเป็นการส่งเสริม"โขนไทยรักคนไทย"โดยจะจัดประกวดวาดภาพ และประกวดการเขียนบทความในหัวข้อ"หนุมานกับการทำความดี"ในความคิดของเยาวชน ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท พร้อมทั้งยังจะมอบเครื่องคอมพิวเตอร์มือสอง จำนวน100เครื่อง ให้แก่โรงเรียนในโครงการ"สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน"ทั่วประเทศอีกด้วย โดยกิจกรรมเสริมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการร่วมส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานการศึกษาเยาวชนไทย ให้ยั่งยืนสืบไป ที่ซึ่งความดีเล็กๆ เหล่านี้ จะถูกสะสมประกอบเป็นภาพใหญ่ในวันข้างหน้า"

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการ CSR campusปี3 ว่าจากกระแสตอบรับในเชิงบวกที่มีต่อโครงการ CSR Campus ทำให้ทั้ง 4 องค์กรร่วมจัด มีความเห็นพ้องที่จะสานต่อกิจกรรมในโครงการเป็นปีที่3โดยรูปแบบของกิจกรรมจะเป็นขยายกลุ่มเป้าหมายจากโครงการในสองปีแรกที่สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมCSRที่ต่อเนื่องและเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่กลุ่มนักธุรกิจในปี 51 มายังกลุ่มนักศึกษาในปี 52 และสู่กลุ่มนักเรียนในปี 53นี้ ซึ่งนอกจากความรู้ความเข้าใจเรื่องCSRที่กระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ยังได้เครือข่าย CSR ในระดับจังหวัดที่เป็นทั้ง นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ พนักงานองค์กร ครู อาจารย์ และเยาวชน ร่วมเป็นภาคีในการทำงานขับเคลื่อนกิจกรรม CSR ของท้องถิ่น โดยท้องถิ่น และเพื่อท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรมอีก

แหล่งที่มา นิตยสาร Marketeer ฉบับวันที่ 30 มิ.ย. 2553