1. Skip to Menu
  2. Skip to Content
  3. Skip to Footer>

ข้อมูลโครงการ

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ก่อตั้งโครงการ CSR Campus ขึ้นในปี 2551 เพื่อจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้ความรู้เรื่อง CSR ให้แก่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องใน 75 จังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับความรู้ด้านบรรษัทบริบาล หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และค้นหาแนวทางการพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคมให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัดภายใต้โมเดล “Thai CSR” ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

จากกระแสตอบรับโครงการ CSR Campus ในปี 2551 ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้นราว 4,000 คน แทบทุกจังหวัด ได้เรียกร้องให้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ทั้ง 4 องค์กรร่วมจัด มีความเห็นพ้องที่จะสานต่อกิจกรรมดังกล่าวเป็นปีที่ 2 โดยรูปแบบกิจกรรมในโครงการ CSR Campus ปี 2552 นี้จะเป็นการต่อยอดขยายผลจากโครงการในปีแรก ที่จะมีการยกระดับจากความรู้ CSR เบื้องต้น สู่การทำ CSR อย่างเป็นระบบ และจะมีการนำผลการระดมสมองจาก workshop ในโครงการปีแรก มาเป็นโจทย์สำหรับการขับเคลื่อนกิจกรรมของแต่ละจังหวัดในโครงการปีนี้ด้วย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในโครงการ CSR Campus ปี 2 นี้ จะเน้นไปที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทายาทนักธุรกิจ นักศึกษา และผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการสังคม ภายใต้โมเดล “Young CSR” เพื่อสอดแทรกเรื่องหน้าที่พลเมืองก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและโลกธุรกิจ อีกทั้งเพื่อให้สอดรับกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานเพื่อสังคมภายใต้วิกฤต

รูปแบบกิจกรรมของโครงการ CSR Campus ในปี 2552 นี้ จะแบ่งออกเป็นช่วงการเรียนรู้ (learning) ช่วงการฝึกหัด (exercise) และช่วงการร่วมปฏิบัติ (workshop) โดยใช้เวลา 6 ชั่วโมงต่อกิจกรรมหนึ่งครั้งในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมุ่งเน้นการถ่ายทอดวิธีการทำ CSR เชิงระบบ ที่คำนึงถึงตัวบ่งชี้ความสำเร็จทั้งในระดับปัจจัยนำเข้า (input) ผลผลิต (output) ผลลัพธ์ (outcome) และผลกระทบ (impact) อันเป็นประโยชน์ต่อการวัดและประเมินผลกิจกรรม CSR ขององค์กร โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

 

ผู้ก่อตั้งโครงการ   


                                            

ผู้บริหารโครงการ